วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อยากให้ลูกเก่ง ติวเตอร์ทำให้การศึกษาลูกเราเสียหายในระยะยาวหรือไม่ ตอนที่ 2

จะไปติวแล้ว จะไปติว.........

เมื่อตอนที่แล้วได้เกริ่นไว้แล้วว่า การส่งลูกไปติวไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องมีเป้าหมาย หัวใจสำคัญของการติวในมุมมองของผู้เขียนคือการสร้างอิสระทางปัญญาให้กับเด็กที่ผ่านการติว หมายความว่าเด็กมีความสามารถที่จะต่อยอดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ได้ทุกเรื่อง ด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่รอบตัว เอาล่ะมาดูว่าจะติวกันให้ดี เป็นยังไง

การติวที่ดี คือ สอนเด็กให้รู้วิธีการเรียนรู้

หากคุณพิจารณาดูแล้วว่าลูกของคุณได้พยายามที่สุดแล้ว การมีติวเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อันนี้คุณต้องไม่ใจร้อน ไม่ต้องกลัวลูกลำบาก หรือเหนื่อย และเมื่อตัดสินใจหาติวเตอร์แล้ว อย่าลืมว่าเราจะต้องทำให้เขาไม่ติดติวเตอร์คือเกิดอิสระทางปัญญา แน่นอนติวเตอร์ที่จะเลือกมาติวต้องสอนเนื้อหาและหลักวิชาการด้วย แต่เขาจะต้องไม่หยุดแค่สอนเท่าที่ต้องสอน ติวเตอร์ที่ดีต้องสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับลูกของคุณที่จะสามารถเผชิญกับประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง คือต้องทำให้เด็กรู้ว่าปัญหาหรือโจทย์ที่เจอหากเกิดขึ้นแล้วต้องคิดยังไง มีขั้นตอนแก้หรือหาคำตอบอย่างไรได้บ้างด้วยตนเอง จะไม่วิ่งโร่หรือยอมแพ้ในทันที ติวเตอร์ที่ดีต้องติวเพื่อเตรียมตัวตกงานให้เร็วที่สุดโดยการส่งเด็กกลับเข้าสู่ชีวิตปกติธรรมดาที่ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาในการเรียนเหมือนคนอื่นๆ แต่สามารถที่จะผ่านไปได้ด้วยตนเอง


สิ่งที่ติวเตอร์ที่ดีควรทำคือการช่างสังเกตว่าเด็กนั้นมีวิธีการเรียนรู้อย่างไรซึ่งรวมวิธีทั้งที่เด็กเรียนไรู้ไม่ได้และเรียนได้ เพราะฉะนั้นนี่คือเหตุผลที่อยากบอกว่าส่งลูกไปเข้าคิวเรียนกันเสาร์อาทิตย์ แย่งที่นั่งในห้อง เด็กจะไม่ได้รู้ว่าตัวเองต้องเรียนรู้อย่างไร การเรียนในห้องรวมหากทำให้เด็กเรียนได้ดีแล้ว เรียนที่โรงเรียนก็คงทำให้เข้าใจไปนานแล้ว

การเป็นติวเตอร์ที่ดีจึงต้องเป็นคนที่มีรายละเอียดและสามารถที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เห็นที่เกิดขึ้นในเด็กให้เป็นกระบวนการพัฒนาเด็กได้ด้วย ขอยกตัวอย่างลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง เราคุยกันวันเดียว เพราะคุณแม่มาปรึกษาว่าลูกเรียนนานาชาติและได้คะแนนเรียงความภาษาอังกฤษต่ำมากจนต้องซ่อมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว และซ่อมทุกครั้งก็ต้องเสียเงินด้วย จึงบอกให้เอางานมาดู และคุยกับเด็กว่าอยากเขียนอะไรในหัวข้อนี้ และวิธีที่ได้โจทย์มาได้มาอย่างไร แล้วเริ่มเขียนอย่างไร เมื่อดูแล้วจึงรู้ว่าที่เด็กทำไม่ได้นั้นเพราะตัวเด็กมีความคาดหวังที่จะเขียนเอาใจครูมากกว่าที่จะเข้าใจหัวข้อจริงๆ ทำให้ข้อมูลในสมองสับสน ทำให้เชื่อมประโยคยาวเกินไปจนสับสน จึงได้บอกขั้นตอนการเรียบเรียงข้อมูลไปว่าให้ถามตัวเองก่อนว่าเมื่ออ่านหัวข้อที่ต้องเขียนไป ให้ถามตัวเองบอกว่าอยากเขียนอะไร ถ้าไม่รู้ว่าต้องเขียนอะไรก็ให้เขียนไปแบบนั้นว่าไม่ชอบหัวข้อนี้เพราะไม่รู้จะเขียนอะไร และได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อจะบอกเรื่องอะไรให้บอกเป็นประโยคสั้นๆ ทีละประโยคไม่ต้องเชื่อมประโยค เช่นบอกว่าไม่ชอบหัวข้อจุด หัวข้อนี้ไม่น่าสนใจจุด ไม่ต้องเขียนยาวๆว่าไม่อยากเขียนหัวข้อนี้เพราะไม่ชอบหัวช้อนี้จึงไม่เขียนและ..... แบบนี้จะทำให้ประโยคสับสนและเราเองหลงทาง เมื่อเด็กมองเห็นจุดอ่อนของตนและเข้าใจวิธีคิดของตนแล้ว ก็สอบผ่านในทันที เด็กยอมรับว่าไม่เข้าใจการสอนของครูในห้องเรียนที่บอกว่าวิธีการเขียนที่ดีเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรบ้าง โดยไม่ได้มองเห็นเข้าไปในความคิดของเขาที่มองไม่เห็นภาพ

ที่เล่ามามากมายเพราะต้องการชี้ให้เห็นว่าการเป็นติวเตอร์ที่ดีอาจแก้ปัญหาให้เด็กได้ในวันเดียว แล้วก็ตกงาน เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาอยู่กับเด็กให้มากพอจนเข้าใจในพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก และปรับแก้ และสร้างความมั่นใจให้เด็ก

อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้ เด็กฉลาดอาจจะกลายเป็นเรียนไม่ดีเพียงเพราะเขามองตัวเองและจับทิศทางไม่ถูก ผู้ปกครองเน้นแต่คะแนนสอบมากกว่าความพร้อมที่จะเรียนรู้ของเด็ก การส่งไปติวที่ทำกันยิ่งเป็นการตอกย้ำความไม่พร้อมภายในเด็กจนเป็นความเครียด เพราะเกิดความคาดหวังทั้งผู้ปกครองและด็ก ที่ผ่านการติว ผลอาจจะทำให้เด็กพาลเกลียดวิชานั้นๆไปเลย

แล้วเอาไงดี

การจะดูว่าได้เลือกติวเตอร์ที่จะทำให้ลูกเกิดอิสระทางปัญญาอย่างที่ว่าเป็นอย่างไร ลองพิจารณาง่ายๆดังนี้

  • ติวเตอร์สามารถทำให้เด็กไว้ใจได้มั้ย เพื่อเด็กจะได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวการเรียนของตนกับติวเตอร์ได้ทั้งทางตรงทางอ้อม หากเด็กกับติวเตอร์ไม่สามารถสร้างความไว้ใจกันได้ระดับนี้ ติวเตอร์ก็จะไม่ได้รู้ปัญหาแท้จริงของเด็ก การมีติวเตอร์ก็ไม่สามารถทำให้เด็กเรียนรู้ดีขึ้นมาได้
  • ติวเตอร์จะต้องไม่ทำตัวเป็นผู้ปกครองหรือตุณครู หมายความว่าเด็กจะต้องไม่รู้สึกเกร็งเหมือนกำลังจะโดนหักคะแนนหรือลงโทษ เพราะความรู้สึกแบบนั้นที่เด็กเผชิญที่โรงเรียนไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องได้ ติวเตอร์ต้องสามารถสร้างบรรยากาศให้เด็กอยากเรียนกับติวเตอณืเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาได้
  • ติวเตอร์ต้องสร้างพฤติกรรมและความเชี่ยวชาญที่จะทำให้เด็กสามารถเกิดอิสระทางปัญญาได้ เช่นทำให้เด็กสามารถที่จะรับงานมากขึ้น อ่านหนังสือได้เข้าใจมากขึ้น เขียนแรียงความได้ดีขึ้น ตำนวณคล่องขึ้น จัดการการใช้เวลาได้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งสามารถที่จะเรียนรู้กับครูแต่บะคนที่มีวิธีการสอนต่างๆกันได้ กล่าวคือไม่ว่าจะเติมอะไรให้เด็กจะต้องเป็นไปในลักษณะที่เด็กจะพัฒนาไปสู่การเป็นอิสระจากการติวให้ได้ ซึ่งติวเตอร์จำเป็นต้องคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ปกครองและคุณครูชองเด็กเพื่อให้ได้ผลสำเร็จ


ร่วมมือกัน

ผู้ปกครองมีส่วนอย่างมากในการที่จะช่วยให้เกิดติวเกิดผลทางอิสระทางปัญญา บทบาทสำคัญของผู้ปกครองคือการมีเจตจำนงค์ที่ชัดเจนและการมีส่วนร่วม หากผู้ปกครองมีความชัดเจนกับติวเตอร์ที่จะช่วยกันพัฒนาของด้อยของเด็กเพื่อให้เด็กไม่ต้องติวอีกต่อไป โอกาสสำเร็จก็มากขึ้น เจตจำนงค์ที่สำคัญ 2 เรื่องคือ ไม่ควรเน้นติวเตอร์เฉพาะการเพิ่มคะแนน คะแนนที่ดีขึ้นต้องเป็นผลพลอยได้จากการติวที่ดี หากเด็กรู้สึกว่าผู้ปกครองให้ติวเพื่อเพิ่มเกรดเท่านั้น ก็จะทำให้ติวเตอร์ทำงานลำบากมาก เพราะเด็กจะคาดหวังว่าติวเตอร์จะเป็นเทวดามาเสกให้เเกรดดีได้ในบัดดล ควรจะทำให้เด็กรู้ได้ว่าผู้ปกครองกำลังร่วมมือกับติวเตอร์ในการพัฒนาศักยภาพภายในของเขาออกมาให้ประสบผลสำเร็จในการเรียนที่ถนัด

เรื่องที่สองคือ อย่ากำหนดเวลาตายตัวในการติว อย่าคาดหวังว่าจะต้องจบภายในกี่อาทิตย์กี่เดือน เพราะเท่ากับการเร่งเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก อันจะทำให้เพิ่มความกดดันให้กับติวเตอร์และเด็ก ผู้ปกครองกับติวเตอร์ที่ร่วมมือกันจะพบได้เองว่าเมื่อไหร่สมควรจะหยุดติวแล้ว เพราะถึงจุดที่เด็กเริ่มพึ่งพาตนเองได้แล้ว มีความเป็นอิสระทางปัญญาแล้ว จึงหยุด

การแลกเปลี่ยนเรื่องราวของเด็กระหว่างผู้ปกครองกับติวเตอร์มีความสำคัญพอๆกับการสร้างความคาดหวังที่ถูกต้อง ก็เหมือนกับวิชาชีพอื่นๆนั่นแหละ จะสำเร็จหรือไม่ สิ่งสำคัญคือข้อมูล หมอจะรักษาคนไข้ได้ดีไม่ใช่หมอเก่งอย่างเดียว การให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับคนไข้มากๆก็เป็นปัจจัยในการรักษาของหมอ ผู้ปกครองที่ไม่ปิดบังข้อมูลการเรียนรู้ของเด็ก จะทำให้ติวเตอร์แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

ผู้ปกครองไม่ควรปกปิดติวเตอร์ และควรพร้อมที่จะให้ติวเตอร์ทราบผลงานของเด็ก รวมถึงความเห็นของคุณครูที่มีต่อเด็ก ผู้ปกครองควรให้ติวเตอร์ได้รับรู้กิจกรรมแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ของเด็ก ปัญหาสุขภาพเพื่อติวเตอร์จะได้เข้าใจความพร้อมของเด็ก

หากเด็กบอกผู้ปกครองว่าไม่ชอบติวเตอร์หรือไม่อยากเรียนหรือไม่พอใจในบางเรื่อง ผู้ปกครองก็ควรแจ้งติวเตอร์ เพราะความผิดพลาดบางเรื่องติวเตอร์ก็ไม่อาจที่จะมองเห็นได้ทั้งหมด เพื่อเมื่อติวเตอร์มองเห็นประเด็นก็จะแก้ไขไปได้ ซึ่งเป็นธรรมดาที่เด็กจะไม่ได้ชอบทุกเรื่องของติวเตอร์

อย่างไรก็ตามผู้ปกครองก็ควรจะระวังที่จะไม่มีส่วนร่วมมากเกินไป จนสิ่งที่ติวเตอร์กำลังจะพัฒนาเด็กกลายเป็นว่าทำให้เด็กพึ่งพาผู้ปกครองมากขึ้น เช่นผู้ปกครองบางรายอดรนทนไม่ได้ที่จะเห็นเด็กทำงานไม่มีคุณภาพหรือผิดๆไปให้ติวเตอร์ดู จึงมักเข้าไปช่วนทำให้สมบูรณ์ ผลคือเด็กก็จะทำให้ผู้ปกครองต้องเข้ามาช่วยทุกครั้ง ผู้ปกครองต้องยอมเห็นความไม่เอาไหนของเด็กที่จะไปถึงติวเตอร์ เพราะนั่นจะเป็นการทำให้ติวเตอร์รู้ถึงปัญหาและพัฒนาการที่แท้จริงของเด็ก และเป็นการเพิ่มความมั่นใจในตัวเด็กที่จะเรียนรู้ที่จะพัฒนาต่อไป

ผู้ปกครองบางท่านอาจจะคาดหวังว่าติวเตอร์จะเป็นตัวแทนของตนในการที่จะทำให้เด็กมีวินัยตามที่ตนเองคาดหวัง และจะคอยเรียกร้องให้ติวเตอร์ทำให้เด็กเป็นไปอย่างที่ตนเองคาดหวัง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำให้เความสัมพันธ์ของเด็กกับติวเตอร์แย่ลงเพราะเด็กจะเห็นติวเตอร์เป็นตัวแทนผู้ปกครองที่จะมากดดันเขาอีกคน

บทสรุป

หากผู้ปกครองไม่แน่ใจว่าลูกควรมีติวเตอร์หรือไม่ ก็ลองปรึกษากับติวเตอร์ที่ตนสนใจจะให้มาติวลูก และฟังดูว่าลูกของตนนั้นจะพัฒนาไปสู่อิสระทางปัญญาได้แค่ไหน การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันกับติวเตอร์ที่เข้าใจเด็ก ก็จะได้มุมมองที่จะตัดสินใจได้ว่าควรติวหรือไม่ เพื่อให้เด็กได้เป็นตัวตนของตัวเองและพัฒนาศักยภาพไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

  

ติดตามย้อนไปอ่านตอนที่ 1

1 ความคิดเห็น:

  1. เขียนได้ดีมากครับ ติวเตอร์ที่ดีต้องสอนให้เด็กสามารถแก้ปัญหาเองได้เป็น ทำให้พื้นฐานแน่นและสามารถเรียนรู้ได้เองในอนาคต "อิสระทางปัญญา" เป็นคำที่ดีมากครับ

    ตอบลบ

You are free to comment. We will treat it as our honor.